สรุปบทความ
บทความเรื่อง ฝึกทักษะสังเกต…นำลูกสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ธรรมชาติของเด็กๆ นั้น มีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งรอบตัวตลอดเวลา เพราะเป็นวัยที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด หากเด็กได้รับการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเขา จะทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ของเขาพัฒนาได้เต็มที่ ทักษะการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์นับเป็นทักษะที่ส่งเสริมให้เด็กๆ สามารถคิดหาเหตุผล แสวงหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาได้ตามวัยของเขาทักษะการสังเกตเป็นหนึ่งในทักษะขั้นพื้นฐานและจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ทาง วิทยาศาสตร์ การสังเกต หมายถึง การใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ เพื่อต้องการรู้รายละเอียดของสิ่งนั้น ๆ ที่จะนำมาซึ่งการเรียนรู้ที่มากขึ้นและเด็กจะเก็บเป็นข้อมูลหรือประสบการณ์
ส่งเสริมทักษะการสังเกตผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
ฝึกสังเกตด้วย ตา
ในการสังเกตโดยใช้ “ตา” นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรแนะให้ลูกรู้จักสังเกตลักษณะของสิ่งต่างๆ สังเกตความเหมือน ความต่าง รู้จักจำแนก และจัดประเภท จะช่วยให้เด็กมี นิสัยในการมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวอย่างละเอียดรอบคอบ นอกจากใบไม้ ลำต้น กิ่ง ก้านแล้ว เราควรจัดหาเมล็ดพืชหลาย ๆ ชนิดมาให้เด็กเล่นเพื่อสังเกตลักษณะรูปร่างขนาด สี และหัดแยกประเภท และจัดหมวดหมู่ อุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากสำหรับการสังเกต คือ แว่นขยาย เด็ก ๆ มักตื่นเต้นที่ได้ เห็นสิ่งต่าง ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น และเห็นรายละเอียดอย่างชัดเจน
ฝึกสังเกตด้วย หู
คุณพ่อคุณแม่ทราบมั้ยว่าเด็กเล็กๆ ที่มีความสามารถในการจำแนกเสียงต่างๆ ที่ได้ยินนั้น จะมีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้ภาษา ทั้งยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัวเขาด้วย เราอาจใช้วิธีอัดเสียงที่เด็กคุ้นหู เช่น เสียงสัตว์ต่าง ๆ เสียงนก เสียงแมลง จิ้งหรีด จักจั่น เสียงน้ำไหล เสียงดนตรีชนิดต่าง ฯลฯ แล้วเปิดให้เด็กทายว่าเป็นเสียงอะไร ให้เด็กหัดสังเกตความแตกต่างของเสียงเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงไป สู่การสอนเขาเกี่ยวกับลักษณะของแหล่งเสียงต่างๆ
ฝึกสังเกตด้วย จมูก การใช้จมูกดมกลิ่นเพื่อฝึกการสังเกตนั้น ควรให้ลูกได้ดมสิ่งที่มีกลิ่นเหมือนและต่างกัน เพื่อให้เขารู้จักจำแนกได้ละเอียดขึ้น การฝึกลูกในขั้นแรก คือปิดตาลูกแล้วให้ดมกลิ่นสิ่งต่างๆ แล้วบอกว่าเป็นกลิ่นอะไร กลิ่นที่นำมาให้ลูกดมควรเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น แป้ง สบู่ ผลไม้ ส้ม ดอกไม้ หัวหอม กระเทียม กะเพราะ ฯลฯ หลังจากที่ลูกสามารถจำแนกกลิ่นต่าง ๆ ได้แล้ว ควรให้ดมกลิ่นสิ่งที่มีกลิ่นคล้ายกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น สบู่ต่างชนิดกัน ดอกไม้ต่าง ๆ ใบไม้
ฝึกสังเกตด้วย ลิ้น การใช้ลิ้นชิมรสอาหารต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่เด็กสนุกสนานเพราะสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กที่ชอบชิม แทะสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว การให้เด็ก ได้ชิมรสต่าง ๆ นี้ก็เพื่อให้รู้จักความแตกต่างของรสชาติ และรู้จักลักษณะของสิ่งที่นำมาใช้เป็นอาหารดียิ่งขึ้น ในการจัดกิจกรรมนั้น คุณพ่อคุณแม่นำอาหารชิ้นเล็ก ๆ หลายๆ อย่างใส่ถาดให้ลูกปิดตาแล้วพ่อแม่ใส่ปากให้ชิมและตอบว่า กำลังชิมอะไร รสเป็นอย่างไร เช่น น้ำตาล-หวาน เกลือ-เค็ม วุ้น-หวาน ส้ม-เปรี้ยวเป็นต้น
ฝึกสังเกตด้วย ผิวหนัง
การเรียนรู้ด้วยการใช้มือสัมผัส แตะ หรือเอาสิ่งของต่าง ๆ มาสัมผัสผิวหนัง ช่วยให้เด็กได้ เรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุต่าง ๆ และเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่อาจนำวัตถุต่างๆ ใส่ถุง ให้ลูกปิดตาจับของในถุงนั้น แล้วให้บอกว่าสิ่งที่จับมีลักษณะอย่างไร เช่น นุ่ม แข็ง หยาบ เรียบ ขรุขระ เย็น อุ่น บาง หนา ฯลฯ โดยสิ่งของที่นำมาใส่ในถุงควรมีพื้นผิวแตกต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น